คติพจน์
“คำกล่าวของพระองค์เป็นเสมือนตะเกียงสำหรับเท้าของข้าพเจ้า
และเป็นแสงส่องทางของข้าพเจ้า” สดุดี 119:105
ประวัติของ NTV
เริ่มจากปี ค.ศ. 1989 ผู้ก่อตั้งฉบับ NTV (ฉบับแปลใหม่)
ได้มีโอกาสสนทนากับคนขับแท๊กซี่เป็นเวลานาน
การสัญจรในกรุงเทพติดขัดทุกวัน
ประกอบกับความร้อนระอุจากยานพาหนะในเมืองที่แออัด
คนขับรถเริ่มระบายความรู้สึกที่ได้อดกลั้นอยู่ในใจ
ถึงเรื่องราวส่วนตัวในเวลานั้น
วิถีชีวิตและครอบครัวของเขาซึ่งดูเหมือนจะสิ้นหวัง
เราบอกให้เขาทราบถึงข่าวประเสริฐของความรอดพ้นที่มนุษย์ทุกคนจะรับได้โดยผ่านพระเยซู
เขาแสดงความซาบซึ้งด้วยใจจริงที่ว่า
มีผู้ที่รักและห่วงใยเขามากถึงขนาดสิ้นชีวิตให้เขาด้วย
นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเคยได้ยิน
เรารู้สึกเสียดายที่ไม่มีพระคัมภีร์ให้เขาศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้า
เหตุการณ์อย่างเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นอีกบ่อยครั้ง
ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เราแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย
NTV
เป็นพระคัมภีร์ที่จัดทำขึ้นโดยบัณฑิตที่มีความรู้แขนงพระคัมภีร์โดยเฉพาะ
ฉบับที่แปลจึงได้ใจความที่ตรงตามความหมาย
ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาพระคัมภีร์อย่างถ่องแท้และสำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านพระคัมภีร์มาก่อน
ในปี ค.ศ. 1991 NTV เริ่มพิมพ์ฉบับลูกาและกิจการของอัครทูต ในนามว่า
“สู่อิสระ” (ลูกา 4:18)
จำนวนหลายหมื่นฉบับเพื่อแจกให้แก่ผู้สนใจโดยผ่านองค์การต่างๆ อาทิเช่น
Campus Crusade For Christ และ Youth With A Mission ต่อมา NTV
ได้พิมพ์ฉบับลูกา กิจการของอัครทูต และยอห์น
รวมจำนวนที่พิมพ์แจกได้หลายหมื่นเล่ม กนกบรรณสารจัดพิมพ์
ทั้งแจกและจำหน่าย ในปี ค.ศ. 1998
กนกบรรณสารได้จัดพิมพ์และจำหน่ายพันธสัญญาใหม่ฉบับบริบูรณ์ ในนามว่า
NTTV คริสตจักรหลายแห่งในประเทศไทยและต่างประเทศใช้ฉบับ NTTV
และเป็นที่กล่าวกันว่า “ฉบับนี้อ่านแล้วเข้าใจง่าย”
จึงเป็นที่นิยมของผู้อ่านทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสอนพระคัมภีร์หลายแห่งในประเทศ
เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความสนใจที่จะอ่านพันธสัญญาเดิมของ
NTTV
รวมทั้งครูสอนพระคัมภีร์และศิษยาภิบาลบางท่านผู้เป็นที่นับถือในวงการคริสเตียน
ในปี ค.ศ. 2012
เราจึงให้มีการจัดพิมพ์พันธสัญญาใหม่อีกครั้งโดยเพิ่มฉบับปฐมกาล สดุดี
และสุภาษิต ในปีนี้ชื่อฉบับเปลี่ยนจาก NTTV เป็น NTV (ฉบับแปลใหม่)
นักศาสนศาสตร์และบรรณาธิการของคณะ NTV
ได้ใช้เวลาหลายปีร่วมมือกันแก้ไขและยกร่างพันธสัญญาใหม่
ประกอบกับการแปลฉบับที่เหลือทั้งหมดในพันธสัญญาเดิม
ทางคณะได้ปรับภาษาให้ทันกับยุคปัจจุบันและปรับบางจุดให้ได้ใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
นับว่าโครงการนี้มีปัจจัยสำคัญๆ
ในการผลิตเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย
เพราะเป้าหมายของเราคือ ต้องการให้ NTV
สัมผัสส่วนลึกของจิตใจของคนไทยอันเป็นที่รักของเราต่อไปอีกเป็นเวลานับร้อยๆ
ปี
คณะผู้แปลพระคัมภีร์ฉบับแปลใหม่ได้แปลพันธสัญญาเดิมเสร็จบริบูรณ์ในครึ่งหลังของปี
2020
หลังจากนั้นเป็นการจัดหน้าพระคัมภีร์ซึ่งมีขั้นตอนที่ใช้เวลานานกว่าที่ได้คาดไว้
ด้วยว่าภาษาไทยไม่เว้นวรรคระหว่างคำ
จึงเป็นปัญหากับช่องไฟและไม่มีโปรแกรมแยกคำในภาษาไทย
ในที่สุดทุกคำจึงถูกแยกด้วยมือ และช่วยให้จัดหน้าได้ดีขึ้น ปลายปี 2022
เราก็พร้อมให้ตีพิมพ์ ผู้สนใจอ่านพระคัมภีร์จะศึกษาได้ทั้งในรูปหนังสือ
หรือดาวน์โหลดได้ทั้ง YouVersion และ Bible Gateway ผู้อ่านจะเห็นว่า
ฉบับนี้มีข้อความชัดเจนเพราะเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย
การใช้คำสม่ำเสมออย่างรัดกุม
และมีใจความตรงตามความหมายของผู้บันทึกเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์
“ต้นหญ้านั้นเหี่ยวแห้งและดอกร่วงโรย
แต่คำกล่าวของพระเจ้าของเราจะยั่งยืนอยู่ตลอดกาล” อิสยาห์ 40:8
ประวัติของมูลนิธิและเป้าหมาย
ในปี ค.ศ. 2020
มูลนิธิถูกตั้งขึ้นในนาม มูลนิธิฉบับแปลใหม่
NTV
เป็นที่นิยมในหมู่เยาวชน และอ่านเข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้สูงวัยด้วย
เราตั้งใจให้คนไทยมีโอกาสได้อ่านและเรียนรู้จากพระคัมภีร์
พระคัมภีร์อุดมด้วยสติปัญญาซึ่งถูกถ่ายทอดให้แก่คนของพระองค์นานกว่า
4,000 ปีมาแล้ว
เราต้องการให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้มารู้จักพระเจ้าของพระคัมภีร์ผู้เปี่ยมด้วยความรัก
เป้าหมายแรกของมูลนิธิคือ เน้นโครงการพระคัมภีร์ฉบับแปลใหม่ คณะ NTV
ประสงค์ที่จะแจกพระคัมภีร์ในหลายรูปแบบทั่วประเทศไทย
โดยการประสานงานกับคริสตจักร โรงเรียน และองค์การศาสนาต่างๆ
ประเทศไทยมีประชากรที่สูงวัยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ก่อตั้ง NTV
ทำธุระกิจเกี่ยวกับการดูแลคนชรามาเป็นเวลาหลายปี
และมีโครงการที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนชราในประเทศไทย
ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอง
พระคัมภีร์ฉบับอื่นๆ
แต่ละฉบับที่มีในประเทศไทย ได้แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของแต่ละ version
โดยเฉพาะ แต่ NTV ไม่ได้แปลตามรูปแบบนั้น
คือเรายึดเอาภาษาฮีบรูและภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาต้นฉบับเป็นหลักในการตีความหมายจากการค้นคว้าคำเฉพาะ
และให้ได้ความหมายแน่นอนที่สุด ไม่ต้องการให้ผิดพลาด NTV
จึงเป็นพระคัมภีร์ที่แปลขึ้นใหม่อย่างแท้จริงสำหรับประเทศไทย
วิธีของการแปล
คณะ NTV มีคติพจน์ของการแปลคือ
“ให้ได้ความหมายตรงกับคำศัพท์เท่าที่จะทำได้
และมีเสรีตีความหมายได้เมื่อจำเป็น”
คติพจน์นี้อาจสรุปด้วยการเน้นหลักสำคัญ 3 ประการคือ
1.
ให้ได้ความรู้สึกในข้อความของต้นฉบับอย่างชัดเจน
และไม่เบี่ยงเบนไปจากนั้น
2. สื่อให้ทราบถึงความตั้งใจในส่วนลึกๆ
ของผู้เขียนด้วยการเลือกคำที่เหมาะสม
3.
แปลให้ได้ข้อความที่ลื่นไหลเพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกของภาษาต้นฉบับ
บรรดาผู้บันทึกพระคัมภีร์ของต้นฉบับได้บันทึกด้วยภาษาที่ชัดเจน
เป็นภาษาที่ผู้มีการศึกษาระดับสูงและคนสามัญเข้าใจได้โดยง่าย
พระคัมภีร์มีไว้ให้ชนทุกชาติ ไม่ว่าจะมีพื้นเพมาจากไหนก็ตาม
คณะผู้แปลได้ศึกษาค้นคว้าความหมายของคำศัพท์ด้วยความระมัดระวังทั้งในภาษาฮีบรูและภาษากรีก
(คือภาษาต้นฉบับของพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่)
เพื่อให้ได้ศัพท์ที่เหมาะสมและได้ความหมายอย่างที่บรรดาผู้บันทึกตั้งใจไว้
การสะกดชื่อเฉพาะในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอเมื่อเป็นคนเดียวกันหรือสถานที่เดียวกัน
ตัวอย่างเช่น คำว่า “Hittites” ในภาษาอังกฤษ ถ้าแปลคำนี้ตรงตัวว่า
“คนฮิตไทต์” ก็จะไม่ถูกต้อง เพราะความจริงแล้ว ชื่อที่ลงท้ายด้วย
“ites” หมายถึง “ชาว” NTV จึงแปลชื่อนี้ว่า “ชาวฮิต” และคำว่า
“Amorites” จึงเป็น “ชาวอาโมร์”
บางข้อในพันธสัญญาเดิมมีข้อความเหมือนกับข้อในพันธสัญญาใหม่
เราก็แปลให้เหมือนกัน แต่ในบางกรณีถ้าดูเผินๆ แล้ว ข้อความคล้ายกันมาก
แต่ความจริงแล้วไม่เหมือนกันทีเดียว
เราจึงแปลให้ได้ความหมายตรงกับภาษาเดิม
เราระวังไม่ให้เกิดความหละหลวมในการแปล
เราไม่เพิ่มเติมเสริมคำโดยไม่จำเป็น
เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อแปลให้ได้ความหมายใกล้เคียงและถูกต้องตามบริบท
เราเน้นเรื่องความหมายมาก เรามีลีลาของภาษาเป็นเอกลักษณ์ของเรา
และไม่ยึดหลักของการแปลตรงตัวให้เป็นคำต่อคำ
เพราะแต่ละภาษาสื่อความเข้าใจได้ต่างกัน
เราจึงต้องปรับคำเพื่อให้คนไทยเข้าใจสิ่งที่ผู้บันทึกต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจ
พันธสัญญาเดิมที่เป็นภาษาฮีบรูใช้คำเฉพาะสำหรับ “พระผู้เป็นเจ้า”
ซึ่งใช้มากกว่า 5,500 ครั้ง คำนั้นเรียกว่าเป็น Tetragrammaton
คือคำที่มีอักษรสี่ตัว ׳הוה (พระผู้เป็นเจ้า) ไม่มีผู้ใดทราบแน่นอนว่า
คำนี้ออกเสียงอย่างไร
เพราะดั้งเดิมคนที่พูดภาษาฮีบรูทราบโดยอัตโนมัติว่าแต่ละคำควรออกเสียงอย่างไร
โดยไม่ต้องมีสระกำกับ
ผู้บันทึกต้นฉบับของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูจึงไม่ใช้สระกำกับคำว่า ׳הוה
คำนี้ไม่มีการออกเสียงตามจารีตประเพณี
เพราะว่าชาวฮีบรูไม่ต้องการออกเสียงพระนามอันบริสุทธิ์ของพระเจ้า
เมื่อเวลาผ่านไปนับพันๆ ปีต่อมา
บรรดาผู้แปลพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูก็ได้เติมสระที่คำว่า ׳הוָה
โดยใช้สระที่มาจากคำว่า אדנָ׳ (พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า)
ผู้แปลของคณะ NTV ได้ใช้คำว่า “พระผู้เป็นเจ้า” สำหรับคำว่า אדנָ׳
และใช้คำว่า “พระผู้เป็นเจ้า” (เป็นตัวเอน) สำหรับคำว่า ׳הוָה
เราหวังว่าจะเป็นพระพรแก่ทุกท่านที่ได้อ่านพระคัมภีร์ฉบับแปลใหม่
นักศึกษาที่จริงจังกับการอ่านพระคัมภีร์จะเข้าใจว่าฉบับแปลใหม่นี้
มีความระมัดระวังในเรื่องความหมายที่ถูกต้องและอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย
ท่านจะอ่านพระคัมภีร์เองได้โดยไม่ต้องให้ใครอธิบายความหมายให้ท่านอีกต่อหนึ่ง
เพราะมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว
พระคัมภีร์ฉบับแปลใหม่จะหาได้ที่กนกบรรณสารและตามร้านขายหนังสือทั่วไปในประเทศไทย
ขอคำกล่าวของพระเจ้าเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตท่าน